วันพุธ, เมษายน 15, 2552

เพื่อมวลชนคนไทยทุกคน




ความเศร้าใจกับการเมืองไทยยุคนี้...เข้าเวปเปิดหาเพลงฟัง ไม่มีเพลงอะไรที่จะฟังได้ดีเท่ากับเพลงเพื่อชีวิต นั่งฟังไปๆ เห็นแก่นแท้ของชีวิต ไม่ได้แล้วลองหาประวัติของเพลงเพื่อชีวิตดีกว่า รู้แต่ว่าคนที่แต่งเพลงเพื่อชีวิตในสมัยก่อนนั้น จะเป็นเพลงที่เสียดสีนักการเมืองในสมัยนั้น ซึ่งปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชนเหมือนกับที่นักการเมืองสมัยนี้กำลังทำอยู่ ตามประวัติที่อ่านเค้าบอกว่าเพลงเพื่อชีวิตรุ่นบุกเบิกอยู่ในปี 2480 นี่ก็ร่วม 72 ปีได้แล้ว โดยจะสะท้อนภาพความทุกข์ยากของผู้คน การโกงกินของผู้แทน, นักการเมือง ออกมาในบทเพลงที่คนแต่งต้องการสื่อออกมาในสังคมยุคนั้น

และในปี 2490 เรียกว่าเป็นขุมทองของเพลงชีวิต และมีการปิดกั้นเพลงชีวิตบางเพลงด้วยการไม่อนุญาตให้ออกอากาศทางสถานีวิทยุ โดยรัฐบาลจอมพล ป. ในยุคนั้น ไม่แตกต่างไปจากการที่คณะกรรมการบริการวิทยุและโทรทัศน์ (กบว.) สั่ง “แบน” หรือถ้าอย่างเห็นๆ ตอนนี้ก็คือ เวปบางเวป สถานีวิทยุบางสถานีถูกสั่งปิดไปอย่างไร้เหตุผลและรังแกกัน และเพลงบางเพลงในยุคนี้ยิ่งถูกห้าม คนก็ยิ่งอยากฟัง และหามาฟัง ดังนั้น เทปและแผ่นเสียงจึงขายดี

เพลงลูกทุ่งจึงเกิดในยุคสมัยนี้และเพลงเพื่อชีวิตก็ค่อยๆได้รับความนิยมจนกระทั่งปัจจุบันนี้ซึ่งเรียกยุคนั้นว่า ยุคเผด็จการครองเมืองจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 จะเป็นช่วงที่เพลงเพื่อชีวิตแบบปัญญาชนได้เกิดขึ้น และสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ทางการเมืองในยุคสมัยนั้นด้วย และเพลงเพื่อชีวิต สมัยนั้นให้ความหมาย คือ “เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน”

“เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พวกเขาตีแผ่เรื่องราวความไม่เป็นธรรมของสังคมเราออกมาอย่างไร

“เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พวกเขาปลูกฝังอุดมคติอะไรให้แก่คนหนุ่มคนสาวและประชาชน

“เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” พวกเราเรียกร้องสิ่งใดกลับคืนมาจากนักปกครองเผด็จการ และส่งคืนสิ่งใดให้แก่ประชาชน


“สู้เข้าไปอย่าได้ถอย
มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู
พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่
สู้ต่อไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาดเขาจะฟัน
เราไม่พรั่นพวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี
เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย
สู้เข้าไปพวกเราเสรีชน”

นี่คือบทเพลง “สู้ไม่ถอย”ที่นักศึกษา ม.รามคำแหงกลุ่มหนึ่งออกหนังสือในนาม “ชมรมคนรุ่นใหม่” ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยยังไม่มีคำตอบ” ตีพิมพ์ข้อความกระทบกระแทกปัญหาการต่ออายุราชการของจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่อ้างว่าเพราะสถานการณ์ต่างประเทศไม่น่าไว้วางใจ หนังสือดังกล่าวมีถ้อยคำเสียดสี “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีกหนึ่งปี” ทำให้นักศึกษา 15 คนถูกตั้งกรรมการสอบสวน และ 9 คน ถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัย นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากเห็นว่าไม่ยุติธรรม จึงพากันรวมตัวประท้วงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการชุมนุมประท้วงข้ามวันข้ามคืน ทั้งมีการแต่งเพลง “สู้ไม่ถอย” โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือ ช่วงเวลาที่ประชาชนแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายที่มีความคิดก้าวหน้า อันมีนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำ และฝ่ายอนุรักษ์นิยม อันประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร นักเรียนอาชีวะ และลูกเสือชาวบ้าน มีการปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของฝ่ายหลังเป็นเหตุให้เกิดการสังหารโหดภายในมหาวิทยาลัย การต่อสู้กันด้วยความรุนแรงทางการเมืองในครั้งนั้น นำไปสู่การเสียเลือดเนื้ออย่างมากมายของนิสิตนักศึกษา ที่นำความเศร้าสลดใจไปทั่วโลก ได้มีการยึดอำนาจทางการเมืองโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า มีการประกาศเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2517 ยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมืองและมีการตั้งคณะรัฐมนตรีพลเรือนมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นการสิ้นสุดยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ที่ได้มาด้วยการต่อสู้รวมตัวกันของนิสิต นักศึกษา ประชาชน

การเมืองจุดนี้ นับว่าเป็นจุดสำคัญทางความคิดของนักศึกษาปัญญาชน ความคับแค้นต่อการถูกกระทำ ต่อภาพที่ได้เห็น ต่อการบาดเจ็บล้มตายของเพื่อนฝูง จึงเป็นบรรยากาศที่บีบคั้นทางความคิดอย่างมาก และทำให้นักศึกษาปัญญาชนส่วนหนึ่งตัดสินใจเลือกเอาหนทางที่เหลืออยู่เพียงทางเดียวคือ เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จับปืนขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการพลเรือนซึ่งมีทหารคอยหนุนหลัง

“อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่
คือมหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ
จะโค่นล้มไล่เฉดเผด็จการ
อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง
สู้กับปืนต้องมีปืนยืนกระหน่ำ
พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง
จรยุทธ์นำประชาสู่ฟ้าทอง
กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร”


เนื่องจากรัฐบาลได้สร้างความคับแค้นกับพวกเขาอย่างแสนสาหัส และการมีชีวิตอยู่ในเมืองมิได้ให้ความหวังอะไรในชีวิตแก่พวกเขาเลย ดังนั้นบทเพลงเพื่อชีวิตที่เคยอยู่ในเมืองหลวง ก็ได้เข้าสู่ป่าเขาลำเนาไพร ซึ่งจะเป็นส่วนที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากยุคประชาธิปไตยเบ่งบานในป่าเขาลำเนาไพร

ได้เกิดรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งนับเป็นยุคมืดทางการเมืองไทยได้ยุคหนึ่ง เค้าเปรียบรัฐบาลสมัยนั้น เป็นเช่นเนื้อหอยนิ่มๆ ที่มีเปลือกหอย ก็คือ ทหารคอยคุ้มครอง และช่วยกันวางแผนการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย นโยบายที่เด่นชัดที่สุดคือ การต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยการประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบให้เห็นถึงหายนะภัยอันเกิดจากลัทธิ และขบวนการทางการเมืองของพวกคอมมิวนิสต์ ดังนั้นนักศึกษาประชาชนที่เปลี่ยนวิถีทางเข้าต่อสู้กับรัฐบาลในป่าเขานั้น จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งที่รัฐจะต้องปราบปรามให้ราบคาบ

นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดเสรีภาพทางความคิดอย่างมากที่สุด มีการตรวจสอบสิ่งตีพิมพ์และประกาศรายชื่อหนังสือที่ห้ามอ่าน หรือมีไว้ในครอบครองจำนวน 204 รายการ มีการควบคุมสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัดขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้ออกหนังสือพิมพ์เพื่อเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลเอง ได้แก่ หนังสือพิมพ์เจ้าพระยา และมีการออกรายการโทรทัศน์ของบรรดาคณะรัฐมนตรีอยู่เป็นประจำ ทั้งแถลงการณ์และออกมาร้องเพลงเชียร์รัฐบาลเอง และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็ถูกจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ให้งดการจัดอภิปรายทางการเมือง และการแสดงที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น

ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับสื่อจากฝ่ายราชการมากกว่า ที่มองเห็นว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็นพวกขายชาติ จึงเป็นระยะหนึ่งที่แนวเพลงเพื่อชีวิตไม่ได้ปรากฏสู่สายตาประชาชน แต่ในขบวนแถวของนักศึกษาปัญญาชนที่อยู่ในเมืองแล้ว ยังคงมีการสานต่อทางความคิดของศิลปินเพลงในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานอยู่ตลอดเวลา และรัฐบาลสมัยนั้นพยายามสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้ทุกคนทุกฝ่ายยอมรับ แต่เป็นความผิดพลาดพลิกผันอย่างมหาศาล กลายเป็นรัฐบาลตลกมีการเยาะเย้ยถากถางเป็นการบ่อนทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเอง กลุ่มที่พยายามทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล ก็คือทหารบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย

วันที่ 26 มีนาคม 2520 พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ลุกขึ้นมาปฏิวัติแต่ไม่สำเร็จ และพลเอกฉลาดถูกตัดสินประหารชีวิต จากสภาพการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ได้มีการแตกแยกเกิดขึ้นในหมู่ผู้นำโดยเฉพาะทหาร และชี้ให้เห็นถึงเสถียรภาพที่อ่อนมากของรัฐบาล ในที่สุดฝ่ายทหารก็ยึดอำนาจได้สำเร็จเมื่อ 20 ตุลาคม 2520 และเกิดรัฐบาลใหม่หลังการยึดอำนาจ

พ.ศ.2520 เป็นนโยบายการผสมผสานระหว่างการเมืองรูปแบบเก่า กับการรอมชอมการเปลี่ยนแปลง เพื่อสนองตอบสภาวะแวดล้อมอันใหม่ นั่นก็คือ การควบคุมอำนาจทางการเมืองขั้นพื้นฐานไว้ในมือข้าราชการ (ทหารเป็นนายก) ขณะเดียวกันก็เปิดช่องให้แสดงออกในรูปแบบของการเลือกตั้ง มีรัฐสภา ขณะเดียวกันก็มีวุฒิสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารนับเป็นช่วงผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองรัฐบาลตรวจสอบสื่อมวลชนน้อยลง วิทยุ โทรทัศน์ มีเสรีภาพในการจัดรายการมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีสิ่งพิมพ์ที่แสดงความคิดก้าวหน้าในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม ออกมาได้ เช่น มติชน อาทิตย์ โลกหนังสือ และงานพ็อกเก็ตบุ๊คของปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า นักศึกษาปัญญาชน เริ่มมีการเคลื่อนไหวเริ่มมีการอภิปรายทางศิลปวัฒนธรรม การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และปัญหาต่างๆ ในสังคม อย่างเปิดเผยมีการเกิดขึ้นของวงดนตรีเพื่อชีวิตทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย วงที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ วงแฮมเมอร์ และวงฟ้าสาง ที่สะท้อนภาพสังคมและชีวิตทั่วๆ ไป โดยเฉพาะภาพความอดอยากยากจนในชนบทภาคอีสาน มีวงดนตรีที่เล่นเพลงแนวเพื่อชีวิตหลายวงได้แก่ วงชีวี ซึ่งแนวดนตรีคล้ายๆ กับวงฟ้าสาง แต่จุดที่ชีวีเน้นกลับไม่ใช่ความยากจนในชนบท หากเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เป็นการใช้สื่อเสียงเพลงปลุกสำนึกเน้นย้ำอุดมการณ์ จุดประสงค์ของชีวีซึ่งอยู่ที่การได้เปิดเผยความจริง และได้ระบายความรู้สึกที่บีบคั้นอย่างเศร้าหมองมาโดยตลอด ความคิดที่รุนแรงและอารมณ์ความรู้สึกที่เจ็บปวดร้าว

จากเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมร่วมกับ นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ตั้งแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา แตกกระจัดกระจาย ลี้ภัยคณะปฏิรูปปกครองแผ่นดิน เข้าสู่เขตป่าเขาพื้นที่การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้แปรสภาพไปเป็นศิลปินปฏิวัติดังนั้นเพลงเพื่อชีวิตที่สร้างสรรค์ในสภาวะนี้ จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นเพลงปฏิวัติ

ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตยุคนั้นเกือบทั้งหมดเป็นนักศึกษา มีกิจกรรมด้านการเมืองและวัฒนธรรม ไม่มีวงดนตรีที่ประกอบวงลักษณะอาชีพ หรือกึ่งอาชีพ แม้บางวงจะมีผลงานบันทึกเสียงของตนเอง เว้นแต่คาราวาน การลี้ภัยเข้าสู่เขตป่าเขากระจัดกระจาย เป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคล อาจเกาะกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แทบไม่เหลือสภาพเป็นวงดนตรี อาจมีเพียงคาราวาน ที่เป็นรูปวงสมบูรณ์พร้อม

“วณิพก” คือบทเพลงเพื่อชีวิต ที่ปลุกกระแสวงการเพลงไทยอย่างที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน และ“เมด อิน ไทยแลนด์” ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ในทุกๆ ด้าน พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, โฮป, คนด่านเกวียน, กะท้อน, คีตาญชลี, นิรนาม (ในยุคแรก) มาจนถึง ซูซู, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, อินโดจีนและอีกหลายคน หลายวง รวมถึงงานเดี่ยวของสมาชิกวงคาราวาน คาราบาว จะมากจะน้อยก็ล้วนมีส่วนหนุนเนื่องให้กระแสเพลงเพื่อชีวิตยุคที่ 3 ถาโถมรุนแรงจนถึงที่สุดเปลี่ยนโฉมหน้าไปอีกระดับหนึ่งจากบทเพลงประท้วง เพลงแห่งอุดมการณ์ กลายมาเป็นเพลง “สะท้อนสังคม” ที่คลายความรุนแรงลงไปตามกระแสการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เคลื่อนสู่สังคมทุนนิยม บริโภคนิยม (ไม่ นับรวมบางส่วนในงานเพลงของคาราบาวที่แตกกระแสไปเป็น “เพลงการเมือง” อย่างชัดเจนนับตั้งแต่งานชุด อเมริโกย) และเฉลียง อัสนี-วสันต์ โชติกุลยุคแรก และงานบางส่วนของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ของจรัล มโนเพ็ชร และฤทธิพร อินสว่าง ยุคปัจจุบัน เพลงเพื่อชีวิตได้เข้ายึดครองเขตแดนที่แน่นอน บริเวณหนึ่งในตลาดเพลงไทยแล้ว นั่นคือ ความสำเร็จ และนี่เป็นที่มาของเพลงเพื่อชีวิตส่วนหนึ่งและเพลงเพื่อมวลชนนี้ก็คือ เพลงชีวิตเพลงหนึ่งที่คนไทยรู้จักกันดีพอสมควรล่ะ





Counter
คนน่ารักเข้ามา
เริ่ม 20/3/52




เพื่อมวลชน
จิ้น กรรมาชน


ถ้าหากฉัน เกิดเป็นนก ที่โผบิน
ติดปีกบิน ไปให้ใกล ใกลแสนใกล


ฉันจะขอ เป็นนก พิราบขาว
เพื่อชี้นำ ชาวประชา สู่เสรี


ถ้าหากฉัน เกิดเป็นเมฆ บนนภา
จะนำพา ความร่มเย็น สู่ท้องนา


หากฉัน เกิดเป็น เม็ดทราย
จะถมกาย เป็นทาง เพื่อมวลชน


ชีวา ยอมพลีให้ มวลชน ที่ทุกข์ทน
ขอพลีตน ไม่ว่า จะตายกี่ครั้ง



1 ความคิดเห็น:

  1. เพิ่งจะรู้นะเนี่ยว่าเพลงเพื่อชีวิตมีความเป็นมายังไง แต่ไม่ว่าบ้านไหนๆก็ตามต้องรู้จักเพลงเพื่อชีวิตกันบ้างเพลง 2เพลงแน่ๆคับ
    จะว่าไปมันก็เป็นเพลงที่ทุกคนฟังกันได้หมดเลยเนอะ คนชอบหมอลำก็ฟังเพื่อชีวิตได้ คนชอบลูกทุ่งก็ฟังได้ คนชอบรอคก็ฟังได้ คนชอบฮิปฮอปก็ฟังได้ ผมเองยังชอบเลย อิอิ
    รักนะคับ ^^

    ตอบลบ

ออกความเห็นสักนิดจะมีข้อคิดให้อ่านทุกว้นค่ะ

Personlove